80yrPhysLogo long
80yrPhysLogo_small
abshead

NEWS

abshead

NEWS

Saturday, 04 April 2015 00:46

เราจะจดเล็คเชอร์อย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด

แปลจาก What's the most effective way to take notes? โดย Claire Brown

Document Source link: https://agenda.weforum.org/2015/05/whats-the-most-effective-way-to-take-notes/

แปลโดย อ.ดร. สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์

ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณลืมเรื่องที่เรียนเร็วพอๆกับ เวลาที่เรียน แม้ว่าคุณจะจดลงไปแล้ว จากการศึกษาพบว่าเราจะลืมเรื่องที่เราเรียนไปร้อยละ 40 ภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากได้ยินหรือเรียน แต่ถ้าเราจดโน้ตอย่างมีประสิทธิภาพ เราสามารถรักษาข้อมูลได้เกือบทั้งหมด

เรียนรู้ที่จะรักษาข้อมูล

ทักษะการจดบันทึกที่มีประสิทธิภาพเป็นการเรียนรู้แบบตื่นตัว (Active learning) มากกว่าจะป็นการเรียนรู้แบบยอมรับ(Passive learning) ในการเรียนรู้แบบตื่นตัวความรับผิดชอบในการเรียนตกอยู่กับผู้เรียน จากการศึกษาพบว่า เพื่อให้การเรียนมีประสิทธิภาพ นักเรียนต้องทำอะไรกับเนื้อหาที่กำลังศึกษา(อ่าน,เขียน,ถกเถียง,แก้ไขปัญหา)
นอกจากนี้นักเรียนยังต้องคิดในเรื่องที่เกี่ยวกับเนื้อหา ซึ่งหมายความว่าในระหว่างที่กำลังเรียนเรื่องนั้น นักเรียนควรจะต้องคิดถึงว่าเขาจะศึกษาเรื่องนั้นอย่างไร อะไรที่จะทำให้เกิดความสับสน ความคิดคุณเปลี่ยนไปอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังเรียน วิธีไหนดีที่สุดในการเรียนรู้ซึ่งเราควรจพทำต่อในอนาคต และถ้าผลออกมาไม่ดี เราจะทำอย่างไรที่จะไม่ทำผิดแบบเดิมอีก
ผลการศึกษาบอกว่าการจดบันทึกเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดเมื่อบันทึกถูกจัดระเบียบและแปรรูปในบางส่วนหรือเอครูให้ตัวอย่างของบันทึกที่ดี การจดบันทึกที่มีประสิทธิภาพต้องใช้ความพยายาม ครึ่งหนึ่งของความพยายามช่วยนักเรียน คือความพยายามให้เขาเข้าใจว่านักเรียนต้องจดบันทึกและเข้ามาทบทวน/เขียนใหม่ อย่างสม่ำเสมอ

นักเรียนมักจะบอกครูว่าพวกเขามีความจำเป็นเลิศและไม่ต้องจดบันทึก เพราะเขาสามารถจำได้ จากการศึกษาพบว่าไม่เป็นเช่นนั้น

เป้าหมายของการจดบันทึกแบบมีประสิทธิภาพก็เพื่อช่วยเตือนความจำว่าเราได้เรียนอะไร และรักษาข้อมูลที่ได้เรียนมาต่อช่วงเวลา ในพ.ศ. 2438 นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน Hermann Ebbinghaus ได้เริ่มทำการทดลองเกี่ยวกับความจำและการนำกลับมาใช้ และการเรียนรู้เป็นช่วงๆ เขาได้พัฒนากราฟการลืม ซึ่งแสดงว่าข้อมูลที่เรียนมาจะสูญหายอย่างรวดเร็วต่อเวลาถ้าไม่มีกระบวนการใดๆในการรักษาเอาไว้

image-20150520-30533-1l7kaev

รูปที่ 1 อัตราการลืมกับเวลา เมื่อเรียนและทบทวน เจ้าของรูป Chi-Ming Ho, 2009

อัตราการลืมจะน้อยลงมากถ้านักเรียนมีการตอบสนองต่อบันทึกนั้น(ด้วยการ อ่านซ้ำ/ถกเถียง/เขียน/นำไปใช้) ภายในเวลา24 ชั่วโมง การทบทวนครั้งที่สองด้วยเวลาที่สั้นลงในหนึ่งวันจะช่วยให้จำข้อมูลได้ถึง100% การทบทวนครั้งที่สามภายในหนึ่งสัปดาห์ในช่วงเวลาที่ยิ่งสั้นกว่าก็จะนำการจำได้มาถึง 100%
(ผู้แปล: ตรงนี้ผมนึกถึงคุณอาผม ดร.สิทธุ์ สโรบล สมัยผผมยังเรียนมัธยม อาผมท่านนี้เรียนนิติศาสตร์ ท่านมีวิธีอ่านหนังสือคืออ่านวันละสิบหน้า วันแรกอ่านหน้า1-10 วันที่สองอ่านหน้า2-11 วันที่สามอ่านหน้า3-12ไปเรื่อยๆ ขณะที่ท่านจะใช้เวลาลอกโน๊ตเขียนลงสมุดใหม่ทุกวัน แต่ละโน้ตหลายๆรอบ ทำให้ท่านจำกฏหมายได้ขึ้นใจ และสามารถนำมาใช้อ้างได้ทันที กระบวนการนี้ใช้ความอดทนอย่างมาก สำหรับเรื่องอัตราการลืม ถ้าเราสังเกตกราฟจะเห็นว่าครั้งถัดๆไปเนื้อหาที่ลืมไปจะน้อยลงเรื่อยๆและถึงระยะหนึ่งก็จะแทบไม่ลดลงเลย แต่ความจริงอาจจะลืมได้ เช่นถ้าเวลาผ่านไปหลายปีอาจจะลืมไปได้แต่พอกลับมาเรียนใหม่ ก็จะฟื้นได้เร็วขึ้น)

การจดบันทึกที่มีประสิทธิภาพทำอย่างไร?

ผู้เขียนเคยสอนในเรื่องระบบการจดบันทึกของมหาวิทยาลัย Cornell(the Cornell Note-Taking System) ซึ่งพัฒนาขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2493 .ในโครงการเตรียมความพร้อมให้นักศึกษา (AVID) การจดบันทึกแบบมีประสิทธิภาพ เป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์(interactive) และรวมการใช้บันทึกชุดแรกหลายครั้งเพื่อสร้างความทรงจำของเนื้อหา มากกว่าจะเห็นว่าการจดบันทึกเป็นแค่กิจกรรมการลอกเพียงครั้งเดียว ลักษณะเด่นของการจดบันทึกแบบนี้แสดงไว้ในภาพข้างล่าง

image-20150520-30501-xrg6gx

ภาพที่ 2: ตัวอย่างของการจดบันทึกในระบบ AVID's Application of Cornell Notes .ในสาขา ศิลปศาสตร์ขอักษรศาสตร์Advancement via Individual Determination (AVID), Author provided

image-20150520-30551-1hyi0ua

ภาพที่ 3 ตัวอย่างของการจดบันทึกในระบบ AVID's Application of Cornell Notes ในวิชาเคมีAdvancement via Individual Determination (AVID), Author provided


ขั้นตอนในการจดบันทึกที่ดีมี 4 ชั้นตอนด้วยกัน กล่าวคือ

  1. การจดบันทึก
  2. การสร้างบันทึก
  3. การปฏิสัมพันธ์กับบันทึก
  4. การสะท้อนความเห็นเกียวกับบันทึก

โดยแต่ละขั้นตอนมีข้อแนะนำดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การจดบันทึก

ในการจดบันทึกนักศึกษาควร

  • เตรียมหน้ากระดาษที่จะจดบันทึกให้เหมือนกันทุกครั้ง เว้นที่ว่างด้านบนไว้เขียนคำถามที่สำคัญที่จะบอกให้ผู้เรียนรู้ถึงหัวใจสำคัญของการเรียน ซึ่งสามารถจะนำไปถกเถียงกันต่อหลังจากหมดชั่วโมง
  • แบ่งหน้ากระดาษออกเป็นสองส่วนแนวตั้ง ส่วนแรกมีพื้นที่ประมาณหนึ่งในสามอยู่ทางซ้าย เป็นพื้นที่ที่จะเขียนคำถามและบันทึกอื่นๆที่จะเพิ่มภายหลังหลังจากที่กลับมาอ่านอีกครั้ง ส่วนที่สองทางด้านขวาเป็นพื้นที่จดบันทึกจากการเรียนจากตำรา หรือจากปฏิบัติการวิดิทัศน์ เสียง หรืออื่นๆ( ผู้แปล: ตรงนี้อาจจะต่างๆกันไป ส่วนตัวเคยใช้ระบบบันทึกหน้าเดียวคือเขียนเฉพาะหน้าซ้ายของสมุด หน้าขวาเอาไว้ ทด หรือเขียนเพิ่มเติม เช่นถ้าอาจารย์ให้โจทย์กับคำตอบไว้แล้วบอกให้ไปทำเองดู ก็ใช้พื้นที่หน้าขวาในการทำโจทย์ข้อนั้น หรือใช้เขียนการพิสูจน์บางอันในขั้นตอนที่ไม่ได้แสดงในเลกเชอร์ หรือแม้แต่ข้อสังเกตต่างๆ ในกรณีวิชาปฏิบัติการ ใช้แปะกระดาษกราฟที่วาดขึ้นต่างหากเป็นต้น แต่ที่เหมือนกันคือเว้นที่ด้านซ้ายของหน้ากระดาษไว้สักนิ้วหนึ่งเผื่อต้องไปเจาะเข้าแฟ้มหรือเขียนอะไรเพิ่มเติม หรือเว้นไว้เย็บเล่ม เพราะถ้าเขียนติดไปเวลาเย็บเล่มจะอ่านตรงนี้ไม่ได้)
  • ฟังและจดบันทึกในสำนวนของตนเอง ปรับเปลี่ยนข้อความที่ได้ยินที่ช่วยให้เข้าใจดีขึ้นแทนที่จะเขียนทุกอย่างที่ได้ยินทุกคำหรือเขียนเหมือนที่เห็น
  • เว้นที่พอสมควรหลังหัวข้อสำคัญ หรือแนวคิดสำคัญ สำหรับไปทบทวนภายหลังและเขียนข้อมูลเพิ่มเติม
  • พัฒนาระบบคำย่อของตนเอง เพื่อลดเวลาที่จะจดบันทึก
  • เขียนเป็นข้อความ ไม่ต้องเป็นประโยคเต็ม
  • ใช้ Bullet points หรือรายการหัวข้อเมื่อใช้ได้
  • เรียนรู้ที่จะแยกข้อมูลสำคัญ กับข้อมูลที่ไม่สำคัญ
  • ใช้คำแนะจากผู้สอน เช่นเมื่อกล่าวว่า " ตรงนี้สำคัญ....."
  • ใช้ปากกาเน้นข้อความและสีเพื่อเน้นแนวคิดสำคัญ การเปลี่ยนแนวคิด หรือตัวเชื่อมข้อมูล
ขั้นตอนที่ 2 การสร้างบันทึก

ขั้นตอนนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เข้าเรียนและจดบันทกในห้องเรียนมาแล้ว ในการสร้างบันทึกนักศึกษาควร

  • ทบทวนและจัดเรียงเนื้อหาในบันทึกที่ได้มาจากขั้นแรก
  • เขียนคำถามในช่องว่างทีเว้นไว้ทางซ้าย ใกล้บริเวณที่เป็นคำตอบที่อยู่ทางขวา หรือจุดที่สงสัย หรือไม่เข้าใจเพื่อนำมาขยายความแก้ความเข้าใจต่อไป
  • เชื่อมใจความสำคัญของเนื้อหาในบันทึกด้วยสีและสัญลักษณ์
  • แลกเปลี่ยนแนวคิดและความร่วมมือกับนักศึกษาคนอื่น เพื่อตรวจสอบความเข้าใจ และทดสอบความครอบคลุมของบันทึกของแต่ละคน

(ผู้แปล:ที่เคยทำคือเมื่อเรียนเสร็จในแต่ละวันเอาบันทึกมาเขียนใหม่ลงในสมุดอีกเล่ม พร้อมเติมการพิสูจน์แต่ละขั้นตอนอย่างละเอียด เขียนความเห็นเพิ่มเติมด้วยในแต่ละขั้น พอจะสอบปลายภาค ก็จะได้บันทึกที่จะทบทวนได้โดยง่ายและชัดเจน)

ขั้นตอนที่ 3 การปฏิสัมพันธ์กับบันทึก

ในขั้นการปฏิสัมพันธ์กับบันทึก นักศึกษาควร

  • เชื่อมแนวคิดทั้งหมดเข้าด้วยกันโดยเขียนสรุป ที่แสดงคำถามสำคัญและคำตอบ ในพื้นที่ที่เว้นด้านซ้าย ต้องสังเกตว่าสรุปเป็นเรื่องของเนื้อหาที่เรียน จะแตกต่างจากผลสะท้อนที่แสดงความเห็นของนักศึกษาต่อเนื้อหาที่เรียนหรือภารกิจที่ทำ
  • วางแผนการเรียนจากบันทกโดยสร้างตารางการเรียนโดยกำหนดเวลามาทบทวนเนื้อหาของแต่ละวิชา
  • ในการเตรียมตัวสอบ ปิดเนื้อหาในช่องขวา และใช้คำถามที่เขียนไว้ในช่องซ้ายในการเตรียมการสอบ (ผู้แปล: ถ้าตอบคำถามไม่ได้แสดงว่าประเด็นนี้ยังไม่เข้าใจ ต้องไปทบทวนเพิ่ม)

ขั้นตอนที่ 4 การสะท้อนความเห็นเกี่ยวกับบันทึก

  • ความเห็นเกี่ยวกับบันทึก ควรเขียนโดยเพื่อนร่วมงาน ติวเตอร์ หรือครู สำหรับกรณีตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียนในขั้นตอนการเรียนรู้เบื้องต้น(ผู้แปล:-อันนี้อาจจะหมายความถึงกรณีที่มีการส่งบันทึกไปให้ตรวจ เช่นวิชาปฏิบัติการ ฯลฯ)
  • นักเรียนควรให้ความสนใจต่อความเห็น โดยนำมาพิจารณาในส่วนนั้น (เอามาทบทวนเพิ่มเติม)
  • นักเรียนควรเขียนความเห็นต่อเนื้อหาอย่างสม่ำเสมอจนถึงเวลาการสอบย่อยหรือการสอบ

(ผู้แปล หวังว่าโน้ตนี้จะเป็นประโยชน์กับนิสิตที่จะใช้เรียนในปีหน้าในการบันทึกเนื้อหาที่เรียน จะได้มีปัญหาในการเรียนน้อยลง)

physbridge
ADDRESS:
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
254 ถ.พญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
 
Department of Physics, Faculty of Science, Chulalongkorn University
254 Phyathai Road, Patumwan, Bangkok Thailand. 10330
CONTACT US:
โทรศัพท์:  02-218-7550
โทรสาร:    02-253-1150
 
TEL: +(66)2-218-7550
FAX: +(66)2-253-1150
FOLLOW US: